อัมพาทใบหน้า (Bell's palsy)
สาเหตุทางแพทย์แผนไทย เกิดจากลม 5 ชนิด คือ
1. เกิดจากลมปลายปัตคาต ทำให้ยักคิ้วไม่ได้ ตาหลับไม่ลง ยิ้มปากเบี้ยว
2. เกิดจากลมสันนิบาต มีการกระตุกตามหน้า ตาและปากร่วมด้วย
3. เกิดจากลมชิวหาสดมภ์ เกิดอาการทางปาก มีปากเบี้ยว น้ำลายยืดเหนียว มองไม่ชัด ยักคิ้วไม่ขึ้น ตาหลับไม่ลง และมีการกระตุกร่วมด้วย เรียกว่า ลมแทรกชิวหาสดมภ์
4. เกิดจากลม 2 กอง ระคนกัน มาจากโรคอัมพาตครึ่งซีก ลม 2 กอง คือ
- ลมเบื้องสูง (อโธคมาวาตา) เป็นลมกองใหญ่
- ลมเบื้องต่ำ (อุทธังคมาวาตา) เป็นลมกองใหญ่
5. เกิดจากลมตะกัง เนื่องจากความเครียด
สาเหตุทางแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ทราบสาเหตุแต่มีปัจจัยเสริม ดังนี้
1. เกิดจากติดเชื้อไวรัส
2. อุบัติเหตุตรงหน้าหู เช่น ถูกตบโดนเส้นประสาทโดยตรง หรือจากอุบัติเหตุอื่นๆ
3. เป็นหูน้ำหนวก หรือมีอาการอักเสบของรากฟันหรือเหงือก เป็นหวัดบ่อยๆ
4. โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าประมาณ 30 เปอเซนต์ มีอาการของอัมพาตใบหน้าร่วมด้วย
5. เนื้องอกในสมองบริเวณรากประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือผ่าตัดในบริเวณใกล้เคียงกับประสาทคู่นี้
6. ร่างกายอ่อนเพลีย แล้วกระทบอากาศเย็น
*** โรคนี้เป็นโรคที่นวดรักษาได้ผลดี พบได้ทุกเพศทุกวัย มักเกิดกับอายุ 20 - 50 ปี ***
อาการทั่วไป
เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกไม่ได้ ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแขนขามีแรงดี และทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง และถ้าอยู่เฉยๆ โดยไม่พูดไม่ยิ้มไม่หลับตาหรือยักคิ้ว จะไม่พบความผิดปกติ
โรคนี้เป็นลักษณะของกล้ามเนื้อบนใบหน้า (กล้ามเนื้อลาย) เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่ทำหน้าที่แสดงสีหน้า เลิกหน้าผากยักคิ้ว ขมวดคิ้ว หลับตา ผิวปาก ถ้าเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 นี้ผิดปกติ การทำงานทุกอย่างก็ผิดไป โรคนี้มีปัญหาที่ใบหน้าอาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ส่วนมากพบข้างเดียว
การดูแลตนเอง
1. ใช้ผ้าชุบน้ำร้อนประคบ เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบประสาทและให้โลหิตไหลเวียนสะดวกนำสารอาหารมาซ่อมแซมได้มากยิ่งขึ้น ประคบเช้า - เย็น ประมาณ 20 นาที
2. ใส่แว่นตาดำ กลางวัน ตอนกลางคืนให้ที่ปิดตานอน
3. ดื่มน้ำอุ่น และพักผ่อนให้เพียงพอ
4. เลี่ยงอาหารที่ต้องเคี้ยวนานๆ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้า
5.หลีกเลี่ยงอากาศเย็น ลมเย็นจะทำให้ตาหลับไม่ลง
6.การบริหารใบหน้า
ให้ผู้ป่วยออกกำลังหน้ากระจกเพื่อคอยดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เริ่มแรกให้ใช้มือข้างเดียวกับใบหน้าที่มีอาการค่อยช่วยก่อน ถ้าเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวมากขึ้นค่อยๆลดการช่วยลง ทำครั้งละ ๑๐ ที ทำซ้ำ ๓ รอบ วันละ ๓ ช่วงเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น